NOSTRA อัปเดต 15 จุดเสริมภูมิรับปี 66 ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั่ว กทม.

อัปเดตล่าสุดสำหรับนอสตร้า (NOSTRA) ที่ลงข้อมูลปักหมุด 15 จุดฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ เสริมภูมิคุ้มกัน ต้อนรับปี 2566

NOSTRA-อัปเดต-15-จุด

NOSTRA ออกแถลงการณ์ถึงความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าแม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายไปแล้วบางส่วน แต่ขณะเดียวกัน ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อใหม่หรือติดเชื้อซ้ำ

“การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นถือเป็นวิธีการหนึ่งในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและลดโอกาสเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์” NOSTRA ระบุ

บริษัท โกลบเทค จำกัด ผู้ให้บริการข้อมูลแผนที่ดิจิทัล และแอปพลิเคชัน NOSTRA นั้นได้นำข้อมูล ตำแหน่งจุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลใหม่ล่าสุด 16 จุดอัปเดตแสดงตำแหน่งในแอปพลิเคชันแผนที่ NOSTRA เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน สามารถเช็กตำแหน่งจุดฉีดวัคซีน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง ลดเสี่ยงเสียชีวิต หวังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมยับยั้งการระบาดของโควิด-19

และเมื่อเร็วๆ นี้ ตามประกาศของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้อัปเดตตำแหน่งจุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล NOSTRA จึงได้ประสานขอนำข้อมูลตำแหน่งจุดฉีดวัคซีนมาแสดงในแอปพลิเคชันแผนที่ NOSTRA ซึ่งชุดข้อมูลจะประกอบด้วย ชื่อจุดฉีดวัคซีน เวลา สถานที่ และวัคซีนที่ฉีด เบอร์โทร.ติดต่อ สำหรับการแสดงข้อมูลตำแหน่งจุดในรูปแบบแผนที่ดิจิทัลนั้นจะทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ง่ายต่อการทำความเข้าใจและเดินทางไปยังจุดฉีดวัคซีนได้สะดวก เปิดดู ตำแหน่งจุดฉีดวัคซีน Covid-19 บนแผนที่

สำหรับ 15 จุดฉีดวัคซีน สังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ 1.โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ที่อาคารกาญจนบารมีเฉลิมพระเกียรติฯ ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (ในเวลาราชการ) โทร.0-2546-1960

2.สถาบันโรคผิวหนัง ที่ตึกสถาบันโรคผิวหนัง ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (9.00-15.00 น.) วัคซีน Pfizer ฝาม่วง และ Pfizer ฝาส้ม (สำหรับเด็ก 5-12 ปี) โทร.0-2354-5222

3.สถาบันประสาทวิทยา ที่อาคารรัชมงคล ชั้น 1 (ห้องหัตถการ) ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (ในเวลาราชการ) โทร.0-2306-9899

4.โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 2

เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ (09.00-12.00 น.) สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป วันจันทร์ (13.00-16.00 น.) สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี และวันศุกร์ (13.00-16.00 น.) สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โทร.0-2548-1000

5.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ที่คลินิกเด็กสุขภาพดี ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี

ให้บริการวันจันทร์-วันพฤหัสบดี (ในเวลาราชการ) ชนิดวัคซีน Pfizer อายุ 6 เดือน-4 ปี 5-11 ปี และ 12-17 ปี สอบถามเพิ่มเติม Call Center 1415 ต่อ 2317

6.โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ที่แผนก OPD ตติยภูมิ ชั้น 3 ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (ในเวลาราชการ) โทร.0-3438-8700

7.สถาบันโรคทรวงอก ที่จุดฉีดวัคซีนสถาบันโรคทรวงอก ชั้น 1 อาคาร 8 ให้บริการทุกวันศุกร์ เวลา 09.00-15.00 น. โทร.0-2547-0999

8.โรงพยาบาลสงฆ์ ที่ตึกผู้ป่วยนอก ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (ในเวลาราชการ) โทร.0-2640-9537

9.โรงพยาบาลเลิดสิน ที่ห้องฉีดยา รพ.เลิดสิน ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (ในเวลาราชการ) โทร.0-2353-9655

10.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ที่ตึกผู้ป่วนอก ให้บริการทุกวันอังคาร เวลา 13.00-16.30 น. โทร.0-2591-4242

11.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่คลินิกตรวจสุขภาพ ชั้น 2 อาคารดำรงนิราดูร ให้บริการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.00-15.00 ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร.0-2202-6800

12.โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ที่อาคารอำนวยการและรังสีวินิจฉัย ชั้น 1 ให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ (13.00-15.00 น.) ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร.0-3845-5456

13.โรงพยาบาลราชวิถี ห้องฉีดยา อาคารทศมินทราธิราช วันจันทร์-วันพฤหัส เวลาราชการ (จำกัดจำนวน) อาคารฉีดวัคซีน (โรงอาหารเก่า ข้างโรงยิม) วันศุกร์ เวลา 08.30-13.30 น. โทร.0-2206-2900

14.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ที่อาคารอำนวยการชั้น 5 ให้บริการวันจันทร์ และวันพุธ เวลา 08.30-16.30 น. โทร.0-2531-0080

15.โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี ที่ห้อง 403 (ห้องตรวจบัตรทอง) ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (ในวันราชการ 13.00-15.00) โทร.0-4531-9659

ข้อมูลจากกรมการแพทย์เหล่านี้ถูกระบุว่าอัปเดตวันที่ 22 ธันวาคม 2565 นอกจากนี้ NOSTRA ยังได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังสนับสนุนสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างสม่ำเสมอตลอดมา โดยการนำข้อมูลสถานพยาบาลในระบบ สปสช.มาแสดงบนแผนที่เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนเดินทางอีกด้วย

อัพเดทข่าว เพิ่มเติม : สถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี จับมือพันธมิตร MOU รับมือความเสี่ยงโรคภูมิแพ้อาหารในโรงเรียน

สถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี จับมือพันธมิตร MOU รับมือความเสี่ยงโรคภูมิแพ้อาหารในโรงเรียน

สถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี (SAIA) ลงนาม MOU ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

สถาบันโรคภูมิแพ้

ในความร่วมมือโครงการวิจัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อาหารในโรงเรียนที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้และแนวทางรับมือความเสี่ยงโรคภูมิแพ้อาหารในโรงเรียน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ปกิต วิชยานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาระหว่างสถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี เปิดเผยว่า สถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี (SAIA) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ในการจัดทำโครงการวิจัยการประเมินความพร้อมของโรงเรียนในการดูแลนักเรียนที่แพ้อาหาร และ การพัฒนาสื่อดิจิทัลบนแอปพลิเคชัน เพื่อ่ให้ความรู้และเพิ่มพูนศักยภาพในการดูแลแก่บุคลากรของโรงเรียนและผู้ปกครองในการรักษาโรคแพ้อาหาร เพื่อรับมือกับอุบัติการณ์การแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้นในโรงเรียน โดยดำเนินงานภายใต้ทุนวิจัยและพัฒนาจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สวรส) ปีพศ. 2565

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้จากผลการวิจัยไปใช้สำหรับสร้างแนวทางให้ความรู้เกี่ยวกับโรคแพ้อาหารให้แก่บุคลากรในโรงเรียน ตลอดจนเขียนแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโรคแพ้อาหารในโรงเรียน ช่วยแก้ไขปัญหาของการแพ้อาหารในโรงเรียนที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบันโรงเรียนไม่ทราบถึงประวัติการแพ้อาหารของเด็ก รวมถึงขาดระบบการจัดการเพื่อป้องกันการสัมผัสอาหารที่แพ้ และขาดระบบการดูแลช่วยเหลือเมื่อเด็กมีอาการแพ้อาหาร” ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต กล่าว

โดยการดำเนินงานหลังจากนี้จะเริ่มต้นด้วยการเขียนแบบบันทึกการเก็บข้อมูลความรู้พื้นฐานโรคแพ้อาหารของบุคลากรในโรงเรียน ต่อด้วยการประสานกับทางโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการวิจัย สร้างในส่วนของแอปพลิเคชัน เพื่อลงข้อมูลการวิจัย จากนั้นจะเก็บข้อมูลจากบุคลากรในโรงเรียน นำลงในสื่อดิจิทัล ในรูปแบบของ LINE OA หรือ เว็บบล็อก

ดร.อดิภัทร ชัยชนะสกุล กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการวิจัยฯ เพื่อเพิ่มความตระหนักในปัญหาโรคแพ้อาหารและยกระดับการดูแลสุขภาพเด็กและผู้ป่วยในโรงเรียนที่เป็นโรคแพ้อาหารให้ได้รับการป้องกันและช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอาการแพ้ที่รุนแรง โดย ทรู ดิจิทัล นำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลและความเชี่ยวชาญ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เชื่อมโยงระบบต่างๆ ครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ ระบบจัดเก็บข้อมูล การลงทะเบียน การประเมินความพร้อมของโรงเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์และประมวลผลในการวิจัย ระบบข้อมูลความรู้ในรูปแบบสื่อดิจิทัล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคแพ้อาหารและคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย และ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตอาการของผู้ป่วย พร้อมแนะนำแนวทางการดูแลเบื้องต้นให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันทีที่พบอาการ ซึ่ง ทรู ดิจิทัล ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้ใช้งานง่าย และสามารถรองรับการใช้งานของโรงเรียนในโครงการที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ได้ในอนาคต สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของทรู ดิจิทัล ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคภูมิแพ้อาหารในสมัยก่อนหลักๆ จะเกิดจาก “กรรมพันธุ์” พ่อแม่สู่ลูก คือหากพ่อหรือแม่แพ้อาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง ลูกก็จะได้รับกรรมพันธุ์การแพ้อาหารชนิดนั้นมา 25% แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคแพ้อาหารทั้งคู่ ลูกก็จะได้รับกรรมพันธุ์การแพ้อาหารชนิดนั้นมา 75% ในปัจจุบันผู้ป่วยเด็กที่แพ้อาหารมีมากขึ้นหลายเท่าตัว ทั่วโลก ซึ่งอาจเกิดจาก “พฤติกรรม” ที่เปลี่ยนไปจากการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่สะอาด ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคน้อยลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เคยต่อสู้กับเชื้อโรคหันไปต่อสู้กับสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายแทนถือเป็นการทำงานอย่างผิดปกติต่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย อาหารส่วนใหญ่ที่คนไทยแพ้ ได้แก่ นมวัว ไข่ไก่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และอาหารทะเล ซึ่งจะทำปฏิกิริยาต่อร่างกาย 5 ระบบ ได้แก่ ระบบผิวหนัง มีอาการเป็นลมพิษเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบบวมรอบๆ ปากและตา ระบบหายใจ มีอาการจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบบวมบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม เป็นหืด ระบบทางเดินอาหาร มีอาการคันปาก คันคอ คันลิ้น ปวดท้อง อาเจียน และลำไส้อักเสบเวลาถ่ายอาจมีเลือดปะปนออกมาด้วย ระบบประสาท มีอาการทำให้ผู้ป่วยมึนงง ระบบหัวใจ มีอาการความดันโลหิตต่ำ และอาจถึงขั้นเกิดอาการช็อกได้

“สำหรับโรคภูมิแพ้อาหารคนไทยบางส่วนอาจจะมองว่าไม่อันตราย ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง หากมีอาการแพ้อาจจะมีเพียงผื่นคันหรืออาการอื่นๆแค่เล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อชีวิต แต่ความจริงแล้วหากผู้ป่วยมีการอาการแพ้มากกว่า 2 ระบบ หรือที่เรียกว่าอาการแพ้รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยอาการหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ทางทีมวิจัยจึงหวังว่าโครงการนี้จะเป็นตัวช่วยให้บุคลากรและผู้ปกครองตระหนักและรู้เท่าทันโรคภูมิแพ้อาหารที่เกิดในโรงเรียน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลถึงชีวิต” ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต กล่าว